The Brooker Group PCL

Binance Academy

GameFi คืออะไร และ ทำงานอย่างไร

เส้นทางทำรายได้เกมบล็อกเชน

22/09/2022

TL;DR

GameFi เป็นคำที่ผสมกันระหว่างคำว่า Game และ Finance เป็นการผลิตและพัฒนาเกมโดยการใช้หลักการสองส่วน คือ เทคโนโลยีบล็อกเชนและระบบการเงินแบบ Decentralized มีรูปแบบการเล่นแบบ play-to-earn (P2E) บนโลกบล็อกเชนที่สามารถทำเงินได้จากการเล่นเกม ผู้เล่นเกมสามารถได้รับเงินรางวัลจากคริปโทเคอร์เรนซีและ NFT ผ่านการทำภารกิจต่างๆ ในเกม ซึ่งมีความแตกต่างจากเกมทั่วไปที่เกมบนโลกบล็อกเชนสามารถแลกเปลี่ยนเกมไอเทมสู่การเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ผ่านการซื้อขายแลกเปลี่ยนบนตลาด NFT

GameFi คืออะไร

จุดเริ่มต้นของ GameFi เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงเดียวกันกับเกม Axie Infinity ได้รับความนิยมสูงสุด ทำให้นักเล่นเกมหันมาสนใจเกมประเภท play-to-earn และสามารถสร้างรายได้ไปพร้อมกับความสนุก

GameFi เป็นการผสมกันระหว่าง เกมและระบบการเงินแบบ Decentralized ที่เชื่อมเกมเข้ากับเทคโนโลยีบล็อกเชน เป็นเกมประเภท play-to-earn สามารถทำเงินได้จากการเล่นเกม โดย GameFi มีระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่ใช้เงินคริปโทเคอร์เรนซี, non-fungible tokens (NFTs), เหรียญโทเค็น และ เทคโนโลยีบล็อกเชน

นอกจากนี้ผู้เล่นเกมสามารถได้รับเงินรางวัลจากคริปโทเคอร์เรนซีและ NFT ผ่านการทำภารกิจต่างๆ ในเกม ซึ่งสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนไอเทมในเกมไปเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล สามารถทำได้ในตลาด NFT หรือ ศูนย์ Exchange ต่างๆ

โปรเจกต์บน GameFi มีกระบวนการทำงานอย่างไร

ในโลก GameFi รางวัลที่ได้รับจากการเล่นเกมมีทั้ง คริปโต, โทเค็น, และ in-game assets เช่น ที่ดินเสมือนจริง (virtual land) ภาพตัวตนเสมือนหรืออวาตาร์ (Avarta) อาวุธ หรือ เครื่องแต่งกายประเภทต่างๆ  ในแต่ละโปรเจกต์ในโลก GameFi จะมีปรับใช้รูปแบบเกมและการทำเงินที่แตกต่างกัน

เกมส่วนใหญ่มี in-game assets มาในรูปแบบของ NFT ที่ทำงานบนเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งแปลว่าสามารถนำ NFT นั้นๆ ไปขายบนตลาดซื้อขายได้ หรือในบางเกมสามารถนำไอเทมในเกมหรือของที่ได้มาแปลงเป็น NFT ก่อนจึงจะสามารถนำไปซื้อขายต่อได้

สิ่งของหรือไอเทม (in-game assets) ที่ได้จากเกมจะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้เล่นได้ คือ การได้รับเป็นรางวัล แต่ในบางเกมของตกต่างตัวละครหรือเครื่องแต่งกายต่างๆ ก็ไม่สามารถใช้งานหรือแปลงเพื่อทำรายได้ จะเป็นเพียงชุดไอเทมเพื่อการตกแต่งเท่านั้น

ทั้งนี้การได้รับไอเทม หรือ ได้รับรางวัลจากไอเทมขึ้นอยู่กับแต่ละเกมด้วยเช่นกัน ซึ่งในเกมส่วนมากจะสามารถสร้างรายได้จากการเล่นเกมผ่านการทำภารกิจในเกมแต่ละเกม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างตัวละคร นำมาต่อสู้แข่งขันกับผู้เล่นคนอื่นๆ หรือ สร้างพื้นที่บนเกมก็สามารถหาเงินได้เช่นกัน ในบางเกมยังสามารถทำให้ผู้เล่นหารายได้เสริมได้แม้จะไม่ได้เล่นเกมผ่านการฝากเหรียญหรือให้กู้ยืมเงินในเกมสำหรับผู้เล่นคนอื่นๆ

ระบบการทำงานของ GameFi มีฟีเจอร์ที่แตกต่างกัน

● Play-to-earn model (P2E)

หัวใจหลักของโปรเจกต์บน GameFi คือ ความสามารถในการเล่นเกมที่เรียกว่า play-to-earn (P2E) เป็นแนวทางใหม่ของการเล่นเกม ที่มีความแตกต่างจากการเล่นแบบ pay-to-play หรือ free-to-play ในโลกของเกมแบบเดิม กล่าวคือ เกมที่ใช้แนวทาง pay-to-play model คือเกมที่ผู้เล่นจะต้องลงทุนจ่ายเงินเพื่อซื้อเกมหรือไอเทมต่างๆ ในเกมก่อนจึงสามารถเล่นเกมได้ เช่น เกม Call of Duty ที่ผู้เล่นจะต้องซื้อเกมก่อนหรือต้องสมัครสมาชิกเพื่อเล่นเกม

เกมรูปแบบดั้งเดิมจะไม่สามารถสร้างได้กลับคืนมาให้กับผู้เล่น และ ไอเทมเกมต่างๆ ที่อยู่ในเกม ก็ไม่สามารถควบคุมหรือครอบครองได้อย่างจริงจัง เพราะของเหล่านั้นถูกควบคุมดูแลโดยบริษัทเกม ในทางกลับกันสำหรับเกมแบบ play-to-earn ทำให้ผู้เล่นสามารถควบคุมไอเทมหรือสินทรัพย์ที่มาจากเกมได้ และยังมอบโอกาสที่จะสร้างรายได้ให้กับผู้เล่นอีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องเตือนสติเอาไว้เสมอว่ารูปแบบการเล่นเกมบนโลก GameFi นั้นจะถูกกำหนดเอาไว้อยู่แล้วจากผู้พัฒนา แต่ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ให้อิสระในการเล่นเกม อิสระในการควบคุมเกมและไอเทมทั้งหมดด้วยตนเอง แต่ก็มีบางกรณีที่ไม่ได้ให้อิสระในการควบคุมทั้งหมด สิ่งสำคัญจึงต้องมีความเข้าใจรูปแบบ วิธีการเล่น และ การทำงานเบื้องหลังของเกมด้วย เพื่อให้เข้าใจว่าเบื้องหลังเกมแบบ play-to-earn ทำงานอย่างไร

ข้อสังเกตของเกมแบบ play-to-earn คือ เกมจะเป็นแบบเล่นฟรี และ สามารถหาเงินจากการเล่นเกมได้ แต่บางเกมในโลก GameFi ก็ต้องจ่ายเงินเพื่อเริ่มต้นเล่นเกมเล่นกันโดยการซื้อ NFT หรือ ซื้อของที่เป็นสินทรัพย์ในโลกคริปโต จึงจะสามารถเข้าสู่โหมดการเล่นได้  ซึ่งจะเห็นได้ว่าการเลือกเล่นเกมแต่ละครั้งมีความสำคัญมากโดยเฉพาะการศึกษาอย่างรอบด้าน Do Your Own Research (DYOR) เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ถ้าหากผู้เล่นเลือกเล่นเกมที่มีให้ลงทุนด้วยเงินจำนวนมากที่อาจจะทำให้ผู้เล่นสูญเสียเงินได้จึงต้องมีความระมัดระวัง

เกมประเภท play-to-earn เกมหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก คือ เกม Axie Infinity เป็นเกมแบบ Ethereum-based NFT ที่ได้รับความสนใจอย่างมากตั้งแต่ปี 2018 โดยเกมนี้ทำให้ผู้เล่นได้เลี้ยงสัตว์ (Axies) และสามารถหาเงินได้ผ่านการรับ SLP token ด้วยการทำภารกิจของเกมในแต่ละวันให้สำเร็จ และ ต้องเข้าแข่งขันต่อสู้กับผู้เล่นอื่นๆ

นอกจากนี้ผู้เล่นสามารถสร้างรายในส่วนอื่นๆ จากการได้รับ AXS ผ่านการลงแข่งขันต่อสู้แบบตัวต่อตัวกับผู้เล่นคนอื่นเพื่อไต่อันดับ ยิ่งอันสูงและแข่งแกร่งก็ยิ่งทำ AXS ได้เยอะขึ้น นอกจากนี้ทั้ง AXS และ SLP สามารถนำไปผสมพันธุ์สัตว์เล่นของเราได้ หรือ จะนำรางวัลที่ได้ไปแลกของในเกม หรือ จะนำไปซื้อขายบนตลาด

การซื้อขายสัตว์เลี้ยงตัว Axies เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้น หรือ จะเปิดให้ยืมสัตว์กับผู้เล่นคนอื่นได้แม้จะไม่ได้เล่นเกม ซึ่งรูปแบบการยืมในเกมนี้รู้จักกันในชื่อ Scholarship ที่สามารถให้ผู้เล่นสามารถยืมตัว Axies ไปเล่นเกมและทำเงิน เรียกคนที่ยืมสัตว์เลี้ยงนี้ว่า Scholars โดยที่คนยืมตัว Axies ก็สามารถเริ่มต้นเล่นเกมได้โดยไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนด้วยเงินจำนวนมากในช่วงเริ่มต้นเกม และในช่วงระหว่างการเล่นสามารถแบ่งผลประโยชน์ได้ จะแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ คนที่เล่นเกมก็จะได้รับรางวัลจากในเกมและผู้ที่ให้ยืมสัตว์เลี้ยง Axies ก็จะได้รับส่วนแบ่งจากการเล่นของ Scholars ด้วย

ความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์จากเกม (In-game Assets)

อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนอนุญาตให้ผู้เล่นเกมมีกรรมสิทธิ์บนสินทรัพย์จากเกม (In-game assets) และสามารถนำสินทรัพย์เหล่านั้นไปซื้อขายแลกเปลี่ยน หรือใช้งานในชีวิตจริงได้ซึ่งมีหลากหลายวิธีเช่นเดียวกับวิดีโอเกมทั่วไปที่ผู้เล่นสามารถมีภาพอวาตาร์ สัตว์เลี้ยง บ้าน อาวุธ เครื่องมือ ฯลฯ แต่สำหรับเกมในโลก GameFi มีความแตกต่างกันคือ In-game assets หรือสินทรัพย์จากในเกมจะถูกสร้างในรูปแบบ NFT หรือที่เรียกว่า NFT minting  ด้วยระบบของบล็อกเชนที่อนุญาตให้ผู้เล่นเกมสามารถเข้าดูแลควบคุมสินทรัพย์ของตัวเองและสามารถตรวจสอบการเป็นเจ้าของได้

บางเกมบนโลกเมต้าเวิร์ส อย่างเช่นเกม Decentraland และ The Sandbox มีเป้าหมายในเรื่องการให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเสมือนจริง โดยผู้เล่นสามารถสร้างรายได้บนที่ดิน  สำหรับเกม Sandbox เป็นเกมที่มีการซื้ออสังหาริมทรัพย์ดิจิทัลและพัฒนาที่ดินเพื่อรับผลตอบแทน ซึ่งทางผู้พัฒนาสามารถคิดเงินจากผู้ที่เข้ามาใช้งานในบนดิน เพื่อรับรางวัลเป็นเหรียญโทเค็นผ่านการสร้างกิจกรรมหรือให้ลูกค้าเช่าที่ดิน

Decentralized Finance Applications (dAapps) กับการทำงานบนเกม Play-to-earn

บางเกมในโปรเจกต์ GameFi มีการนำผลิตภัณฑ์ทางด้าน Decentralized Finance มาใช้งานอย่างหลากหลาย เช่น staking, liquidity mining และ yield farming ที่ทำให้ผู้เล่นสามารถ stake เหรียญโทเค็นจากในเกมเพื่อรับรางวัล ปลดล็อคไอเทมพิเศษ หรือ ผ่านเข้าเกมในเลเวลที่สูงขึ้น

การนำระบบการทำงาน dAapps มาใช้งานกับเกมจะทำให้เกมมีลักษณะไม่มีศูนย์กลางไม่มีใครมาควบคุม แตกต่างจากเกมแบบดั้งเดิมที่จะมีสตูดิโอเป็นศูนย์กลางในการควบคุมดูแลเกมรวมถึงการอัพเดตเกมด้วย ในบางโปรเจกต์บน GameFi เกมจะอนุญาตให้ชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจเกมหลายๆ อย่าง โดยคนในชุมชนสามารถเสนอความคิดเห็น วางแนวทางและโหวตสำหรับการอัพเดตเกมในอนาคตได้ ผ่านระบบที่เรียกว่า decentralized autonomous organizations (DAOs)

อนาคตของ GameFi

ในปี 2021 ช่วงเติบโตของโปรเจกต์บน GameFi มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับปี 2022 เดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้มีจำนวนเกมมากถึง 1,400 เกมที่ Listed เข้าไปอยู่ใน DappRadar โดยเกมใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามาสามารถทำงานบนเชนที่แตกต่างกันได้ เช่น Ethereum, BNB Smart Chain (BSC), Polygon, Harmony, Solana เป็นต้น

ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้โลก GameFi สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และด้วยความสามารถที่ทำให้ผู้เล่นสามารถเป็นเจ้าของไอเทมบนเกมและสามารถสร้างรายได้จากการเล่นเกม ยิ่งเป็นการสนับสนุนให้คนเข้ามาเล่นเกมสร้างกระแสการเล่นเกมแนว play-to-earn เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับนักเล่นเกมในประเทศกลุ่มกำลังพัฒนา

บทส่งท้าย

นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นแรกของการกำเนิดบิตคอยน์ เราเห็นได้ว่าผู้คนมีความพยายาในการทำเกมอย่างง่ายๆ ผ่านการเล่นด้วย Web Browser เพื่อทำกำไรจากบิตคอยน์ ในขณะเดียวกัน Ethereum และ Smart contracts เกิดการพัฒนาอย่างมากมายสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเกมบนโลกบล็อกเชนที่ทำให้คนเล่นได้รับประสบการณ์ที่แปลกใหม่น่าสนใจ

ซึ่งจะเห็นได้ว่าโลกของ GameFi นี้สามารถเข้าถึงได้ไม่ยากอีกต่อไป เป็นการรวมกันระหว่างความบันเทิงกับการสร้างรายได้ ด้วยการเติบโตของบล็อกเชนเกมก็ยิ่งทำให้เห็นจำนวนนักพัฒนา บริษัทด้านเกมขนาดใหญ่เริ่มเข้ามาสร้างเกม และสร้างเมต้าเวิร์สเพิ่มขึ้นอีกด้วย

แปลโดย Brook Digital Asset Team, 15 กันยายน 2022

ที่มา : Binance Academy
 • What Is GameFi and How Does It Work? https://academy.binance.com/en/articles/what-is-gamefi-and-how-does-it-work
 • GameFi Explained: How To Earn Money Through Blockchain Gaming
https://www.binance.com/en-NG/blog/all/gamefi-explained-how-to-earn-money-through-blockchain-gaming-421499824684903406

ช่องทางติดตาม Brook Digital Asset